Asean Village

ทวีโชค พูนไชย

www.kumthai-writing.com

               ชีพจรปวงไทยปีระกา

วงรอบปฏิทินจันทรคติไทยหมุนเข้าสู่ “ปีระกา” ศกหน้า ตามตำราทำนายทายทักว่า ปีชง สำหรับพุทธศักราชใหม่นั้น ได้แก่ปีนักษัตร เถาะ ส่วนปีชงร่วม คือ ปีนักษัตร ระกา มะเมีย และชวด

เรื่องโหราศาสตร์ เกณฑ์ทางดวงดาว ผูกพันกับคนไทยมาช้านาน ใครหลายคนยึดถือเป็นสรณะ อีกจำนวนหนึ่งไม่นำมาเป็นแก่นสาร แต่ก็ไม่หลบหลู่ดูแคลน 

เพราะหลายสิ่งอย่างในชีวิตจริงก็ยากยิ่งหาคำใดมาอธิบาย ทั้งในเชิงตรรกะ ทฤษฏี หรือวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นแล้วทางที่เหมาะควร คือ การดำรงตนบนความไม่ประมาทนั้นดีนักแล

เอาล่ะ! ทีนี้มาจับยามสามตาดูกันว่า ในรอบปีพ..2560 บรรยากาศประเทศไทยจะเช่นไร คนไทยเราจะประสบพบเจอสิ่งใดร่วมกันบ้าง?

พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่

หลังการเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กษัตริยาธิราชพระทรงธรรม์ ธ ทรงเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของผองไทย นำมาซึ่งความโศกาอาดูรทั้งแผ่นดิน นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาตินั้น

ถนนทุกสายจากทั่วประเทศก็มุ่งตรงสู่ท้องสนามหลวง เพื่อน้อมถวายความอาลัย แสดงออกซึ่งความรัก ความศรัทธา ความจงรักภักดีที่มีต่อในหลวงของปวงราษฎร์ไม่ขาดสาย

        อาณาประชาราษฎร์ทุกหมู่เหล่า สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ปวารณาตนเดินตามรอยพระราชปณิธานของพระองค์ ซึ่งเป็นทุกนิยามของความงามและความดี

เหล่าทวยราษฎร์จะยึดมั่นในสัจจะ ความซื่อสัตย์สุจริต มีความกตัญญู จะบากบั่นขยันหมั่นเพียร แก้ปัญหาด้วยปัญญา รู้รักสามัคคี เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อส่วนรวม น้อมนำหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” มาปฏิบัติใช้จนกว่าชีวิตจะหาไม่ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล อันประกอบด้วย พระพิธีสวดพระอภิธรรม และประโคมย่ำยาม ซึ่งพระราชพิธีทรงบำเบ็ญพระราชกุศลสตมวาร (100 วัน)จะครบกำหนดในวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2560 นั้น แต่เชื่อว่าทางการจะขยายเวลาออกไป เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถวายสักการะหน้าพระบรมโกศอีกสักระยะ ไปจนกว่าการจัดสร้างพระเมรุมาศอย่างสมพระเกียรติตามโบราณราชประเพณีจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนกันยายนปีหน้า 

และเมื่อถึงวันนั้น พระราชพิธีพระราชทานพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9มหาชนชาวสยามก็จะกำสรวลหวนไห้ หยาดน้ำตาไหลท่วมท้นนองแผ่นดิน สุดแสนอาลัยพระภูมิพลมหาราช พระทรงเป็นที่เทิดทูนยิ่งของพสกนิกรกันอย่างถ้วนทั่ว

ผลัดแผ่นดิน ปฐมบทรัชกาลที่ 10

                ประเทศไทยยึดถือเอา ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็น 3 สถาบันหลัก สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นปึกแผ่น ประหนึ่งเป็น 3 เสาหลักหนักแน่น ผู้ใดกลุ่มคนใดจะมาบั่นทอนบ่อนทำลาย ให้พังทลายลงไปไม่ได้เป็นอันขาด

                ต่อเมื่อสิ้นรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้วนั้น หลังพระราชพิธีพระราชทานพระบรมศพช่วงปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 ไทยเราก็จะผลัดแผ่นดินเข้าสู่ยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีไม่วันใดก็วันหนึ่ง

                ตามโบราณราชประเพณี การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ จะมีหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถือเป็นแบบแผนอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระราชพิธีอันเป็นสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง แสดงออกซึ่งความสมบูรณ์พูนสุขของราชอาณาจักร ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

                สวัสดิฤกษ์มงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นวันใด ก็จะยึดเอาวันเดียวกันนี้เป็น “วันฉัตรมงคล”ฉะนั้นแล้ววันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคลมายาวนาน 70 ปี ก็จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต รวมไปถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 10 ในวันที่ 28 กรกฎาคม ต่อจากนี้ไป ก็จะเป็นสำคัญสูงสุดอีกวันหนึ่งของชาติไทย 

                ธรรมเนียมปฏิบัติในการประดับพระบรมฉายาลักษณ์หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ตามหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน หรืออาคารบ้านเรือนของประชาชน “รูปที่มีทุกบ้าน” ก็จะต้องเพิ่มเติมขึ้นมาอีกหนึ่งตลอดจนพระราชลัญจกรประจำรัชกาล หรือตราประจำพระองค์ ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 10 แต่ก็จะอยู่บนพื้นธงสีเหลืองดังเดิม 

                ไม่ช้าไม่นานอีกเช่นกัน รูปแบบธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ของไทยเรา ก็จะปรับเปลี่ยนไปให้สอดรับกับยุคสมัยของรัชกาลที่ 10 โดยธนบัตรปัจจุบันเป็นแบบที่ 16 มีจุดมุ่งหมายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติ

                ลักษณะสำคัญของธนบัตรแบบดังกล่าว คือ ภาพประธานด้านหน้า คือ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ส่วนภาพประธานด้านหลัง คือ พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประทับบนพระแท่นมนังศิลาบาตร ภาพการประดิษฐ์อักษรไทย ภาพศิลาจารึกหลักที่ 1 ภาพลายสือไทย เป็นต้น

                ช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงคืบคลานใกล้เข้ามาทุกขณะ แม้จะเป็นห้วงเวลาลำบากยากยิ่งต่อการปรับตัว ปรับใจ

แต่ที่สุดแล้วมหาชนชาวสยามล้วนมี “โซ่คล้องใจ”ดวงเดียวกันนิรันดร์.

                                ////////////////////////////////////////////////////////////

 


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 1,860,224